การพัฒนาเวชศาสตร์การนอนหลับในประเทศไทย

(Evolution of Sleep Medicine in Thailand)

ศาสตราจารย์ แพทย์หญิง อรุณวรรณ พฤทธิพันธุ์

มนุษย์ใช้เวลาหนึ่งในสามของชีวิตกับการนอนหลับ    วิชาความรู้ที่เกี่ยวกับการนอนหลับส่วนใหญ่มากจากต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มีการตื่นตัวศึกษาหาความรู้ในศาสตร์สาขานี้อย่างก้าวกระโดด นับตั้งแต่การค้นพบ rapid eye movement (REM) sleep ในปี ค.ศ. 1953 เป็นต้นมา1  มีการค้นคว้าวิจัยทั้งทางการแพทย์และทางวิทยาศาสตร์  สร้างศาสตร์วิชาเฉพาะทาง sleep medicine และ sleep science  มีแพทย์เฉพาะทางที่เรียกว่า sleep specialist  มีอาชีพนักตรวจการนอนหลับที่เรียกว่า sleep technician หรือ sleep technologist ที่เป็นผู้ตรวจการนอนหลับในห้องปฏิบัติการที่เรียกว่า polysomnography มีสมาคมวิชาชีพ และมูลนิธิที่มุ่งพัฒนาองค์ความรู้และการดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาการนอนหลับโดยเฉพาะ  มีการจัดการประชุมประจำปี ระดับประเทศ และระดับนานาชาติ มีวารสารวิชาการ มีการจัดการสอบการฝึกอบรมเพื่อปรับมาตรฐานให้ได้ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการนอนหลับ และมอบวุฒิบัตรเวชศาสตร์การนอนหลับให้1   นอกจากนี้ยังมีการตรวจประเมินคุณภาพ (accredit) ศูนย์โรคการนอนหลับทั่วประเทศ  บางมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกามีการจัดตั้งอนุสาขาเวชศาสตร์การนอนหลับเป็นระดับภาควิชาหรือหน่วย  โดยใช้คำว่า Department หรือ Division of Sleep Medicine

วิชาการนอนหลับนับเป็นวิชาใหม่ในวงการแพทย์ เมื่อเปรียบเทียบกับสาขาวิชาอื่นๆ ระดับความเจริญก้าวหน้าของวิชานี้ในแต่ละประเทศในโลกมีความแตกต่างกันมาก  สำหรับในประเทศไทยยังไม่มีการแบ่งอนุสาขาวิชานี้แยกออกมาเป็นเอกเทศ  เนื้อหาวิชาการนอนหลับได้แทรกอยู่ในแพทยศาสตร์หลายแขนง  ที่สำคัญได้แก่  ประสาทวิทยา จิตเวช โรคระบบหายใจ โสตศอนาสิกวิทยา และทันตกรรม ตลอดจนถึงระดับพรีคลินิก และวิทยาศาสตร์พื้นฐานทางการแพทย์ เช่น สรีรวิทยาการนอนหลับ เภสัชวิทยาเกี่ยวกับการใช้ยานอนหลับต่างๆ ประสาทวิทยาศาสตร์ ชีววิทยาระบบประสาท และพฤติกรรมศาสตร์ เป็นต้น

ประวัติความเป็นมาของวิชาการนอนหลับในประเทศไทย

คนไทยเริ่มเห็นความสำคัญของศาสตร์การนอนหลับมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา  แพทย์และนักวิทยาศาสตร์ของไทยก็เริ่มตื่นตัวค้นคว้าหาความรู้ทำการวิจัยเกี่ยวกับปัญหาการนอนหลับ  โดยเริ่มจากกลุ่มโรคที่พบในคนไทย 2 กลุ่มโรค คือ

โรคใหลตาย (สะกดด้วยใ_ ไม่ใช่ ไหลตาย)

หรือ sudden unexpected death syndrome (SUDS) หรือ sudden unexpected nocturnal death syndrome (SUNDS)  โรคนี้ได้สร้างความตื่นตระหนกแก่คนในช่วงปี ค.ศ. 1982-1990 เป็นอย่างยิ่ง2 เนื่องจากพบว่ามีชายไทยวัยฉกรรจ์จากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อายุเฉลี่ย 33 ปี ไปทำงานระดับแรงงานในสิงคโปร์ ที่อยู่ๆ ก็เสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ ถึง 235 คน3

เป็นโอกาสให้ รศ.ดร.นัยพินิจ  คชภักดี  ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้าน neuroscience  ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในระดับนานาชาติ ได้จัดตั้งห้องปฏิบัติการ polysomnography ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ที่มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา ในปี ค.ศ. 1984 (รูปที่ 1) การวิจัยเพื่อสืบค้นสาเหตุของโรคนี้  ส่วนใหญ่มุ่งประเด็นว่าเป็นจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจ และการส่งคลื่นกระแสไฟฟ้าหัวใจ4อาจเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์ หรือไม่ยังไม่มีการวิจัยที่ยืนยัน  แต่มีรายงานว่าอาจเกี่ยวข้องกับหัวใจที่เต้นผิดจังหวะแบบ ventricular fibrillation ที่ถูกกระตุ้นจากการที่มี potassium (K) ต่ำในเลือด  สืบเนื่องจากการกินอาหารที่มี potassium ต่ำ5

กลุ่มโรค obstructive sleep apnea หรือ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น นำโดย รศ.นพ.คณิต  มันตราภรณ์  ได้บุกเบิกริเริ่มการตรวจการนอนหลับด้วย polygraphic test ในปี ค.ศ. 1974  และรายงานการนอนกรนด้วยการผ่าตัด uvulopalatopharyngoplasty เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ในปี ค.ศ. 19886 (รูปที่ 2)

หลังจากนั้นได้มีการจัดตั้งห้องปฏิบัติการตรวจ polysomnographyในโรงเรียนแพทย์ และโรงพยาบาลใหญ่ๆ เพิ่มขึ้นตามลำดับ โดยลักษณะการทำงานเป็นแบบสหสาขาวิชาชีพ  โดยผู้บุกเบิกสาขาวิชานี้ในระยะเริ่มแรกได้แก่  ศ.พญ.พูนเกษม  เจริญพันธ์ (โรคระบบหายใจ)  รศ.นพ.คณิต  มันตราภรณ์ (โสตศอนาสิกแพทย์)  ศ.นพ.ประเสริฐ  บุญเกิด (โรคระบบประสาท)  ผศ.นพ.สุรชัย  เกื้อศิริกุล (จิตเวชศาสตร์)  ผศ.นพ.ทายาท  ดีสุดจิต (โรคระบบประสาทในเด็ก) และ ศ.พญ.อรุณวรรณ  พฤทธิพันธ์ (โรคระบบหายใจในเด็ก)7

ต่อมามีแพทย์ที่ได้รับการฝึกอบรมจากประเทศสหรัฐอเมริกา และแคนาดา  ทางด้านเวชศาสตร์การนอนหลับ  กลับมาพัฒนาความเจริญก้าวหน้าของสาขาวิชานี้ในประเทศไทย  หลายท่านได้รับวุฒิบัตร American Board of Sleep Medicine, Certified International Sleep Specialist รวมถึง Registered Polysomnographic Technologist (RPSGT) และประกาศนียบัตรเวชศาสตร์การนอนหลับ นับเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยผลักดันสาขาวิชาเวชศาสตร์การนอนหลับ และยกมาตรฐานการดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาการนอนหลับของประเทศไทยทั้งในปัจจุบันและในอนาคต

การจัดตั้งสมาคมวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับการหลับ

รศ.ดร.นัยพินิจ  คชภักดี  ได้ก่อตั้ง Thai Sleep Research and Sleep Medicine Society (TSRSMS) ขึ้นในปี ค.ศ. 1991 โดยได้รับการสนับสนุนจาก Asian Sleep Research Society จัดให้มีการประชุมวิชาการระดับนานาชาติขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย 3 ครั้ง  ได้แก่  The 3rd Congress of Asian Sleep Research Society (ASRS) ที่กรุงเทพมหานคร  ในระหว่างวันที่ 3-8 ธ.ค. 2000, The 9th International Congress of Behavioral Medicine ที่กรุงเทพมหานคร ในระหว่างวันที่ 29 พ.ย.-2 ธ.ค. 2006  และ  The 2nd World Congress of World Association of Sleep Medicine (WASM)  ที่กรุงเทพมหานคร ในระหว่างวันที่ 4-8 ก.พ. 2007  นับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการรวบรวมแพทย์ และนักวิทยาศาสตร์ของไทยที่สนใจเรื่องการนอนหลับให้ได้มาพบกัน ปรึกษาหารือกัน และรวมแสดงศักยภาพทางวิชาการของไทยให้ปรากฏกับนักวิชาการต่างประเทศ

ต่อมาในปี ค.ศ. 2009  ศ.นพ.ประพาฬ  ยงใจยุทธ  และศ.เกียรติคุณ ดร. คุณนันทา  มาระเนตร์ ได้ร่วมกันจัดตั้งสมาคมโรคจากการหลับแห่งประเทศไทย หรือSleep Society of Thailand ขึ้น โดยมีกรรมการบริหารเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญการนอนหลับจากราชวิทยาลัยต่างๆ ร่วมกันดำเนินงานเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งสมาคมฯ อันได้แก่

เพื่อสนับสนุนส่งเสริมสาขาวิชาการนอนหลับในประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้าทั้งด้านการศึกษา การวิจัย และการบริการทางการแพทย์

เพื่อยกระดับ ความรู้ ความเข้าใจ ด้านการนอนหลับ ให้กับแพทย์ นักตรวจการนอนหลับ  และบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ ตลอดจนถึงนักวิทยาศาสตร์ และประชาชนทั่วไป

เพื่อสนับสนุนส่งเสริมยกระดับมาตรฐานการดูแลรักษาโรค การตรวจเพิ่มเติมเพื่อการวินิจฉัยและรักษาที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ ให้ได้มาตรฐานสากล

จนถึงปี ค.ศ. 2017 สมาคมฯ มีสมาชิกที่เป็นแพทย์ 190 คน สมาชิกที่เป็นนักตรวจการนอนหลับ 241 คน มีการจัดประชุมวิชาการประจำปี ทุกปีนับตั้งแต่ก่อตั้งสมาคมฯ เป็นต้นมา  นอกจากนี้ยังมีการจัดการฝึกอบรมนักตรวจการนอนหลับ  มีการจัดสอบสำหรับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญการนอนหลับ และนักตรวจการนอนหลับทั้งระดับพื้นฐานและชำนาญการ  การตรวจประเมินคุณภาพการตรวจ polysomnography จัดทำ clinical practice guideline ตำราทางวิชาการ ตลอดจนการให้ความรู้กับประชาชนทางสื่อต่างๆ ร่วมกับการจัดกิจกรรมวันนอนหลับโลก ( World Sleep Day) กับกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ในวันศุกร์ที่ 2 ของเดือนมีนาคม เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเรื่องการนอนหลับกับประชาชนทั่วทุกภาคของประเทศ

ปัญหาของการพัฒนาเวชศาสตร์การนอนหลับในประเทศไทย

ปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญที่สุด คือ การขาดแคลนนักตรวจการนอนหลับ หรือเจ้าหน้าที่ตรวจการนอนหลับ ขาดแคลนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการนอนหลับ รวมไปถึงการขาดแคลนห้องปฏิบัติการตรวจการนอนหลับที่ได้มาตรฐาน ในปัจจุบันเฉพาะผู้ป่วยที่ถือสิทธิ์ข้าราชการและรัฐวิสาหกิจ จึงจะสามารถเบิกค่าตรวจการนอนหลับ และค่าใช้จ่ายในการซื้อเครื่องอัดแรงดันบวก หรือ CPAP ได้บางส่วน ตรงข้ามกับสิทธิ์ประกันสุขภาพจากบริษัทเอกชน จะไม่สามารถเบิกค่าตรวจการนอนหลับ และค่าเครื่อง CPAP ได้  สำหรับผู้ป่วยที่ถือสิทธิ์ประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไม่สามารถเบิกซื้อเครื่อง CPAP ได้ แต่สามารถขอต้นสังกัดให้ส่งมาตรวจการนอนหลับที่โรงพยาบาลรัฐบาลได้  ปัญหาดังกล่าวทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสิทธิที่จะได้รับการบริการสุขภาพ ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่แพทย์ตรวจพบว่ามีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นอย่างรุนแรง มีภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ตามมาอย่างมากมาย  แต่กลับไม่ได้รับการรักษาใดๆ เนื่องจากอยู่ในกลุ่มที่ไม่สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้  นอกจากเรื่องการรักษาพยาบาลแล้ว  ประเทศไทยยังขาดข้อมูลพื้นฐานของคนไทยเกี่ยวกับการนอนหลับ  ผลงานวิจัยในเรื่องนี้ยังมีน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศในทวีปเอเชียอื่นๆ เช่น ไต้หวัน เกาหลี ฮ่องกง ฯลฯ

แนวทางการพัฒนาเวชศาสตร์การนอนหลับในประเทศไทย

แบ่งออกได้เป็น 5 ด้าน ได้แก่

  • แพทย์
  • นักตรวจการนอนหลับ
  • การตรวจการนอนหลับในห้องปฏิบัติการ และอื่นๆ
  • การวิจัย
  • ประชาชน

แพทย์

เป็นโอกาสอันดีที่มีแพทย์ไทยจำนวนหนึ่งที่สนใจศาสตร์ของการนอนหลับ  ได้มีโอกาสไปเพิ่มพูนความรู้ และจบการฝึกอบรมจากประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดา  ได้รับคุณวุฒิและประสบการณ์ในการดูแลรักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ  ส่วนใหญ่กลับมาทำงานในโรงเรียนแพทย์ และโรงพยาบาลชั้นนำของประเทศ  เมื่อสมาคมโรคจากการหลับฯ ได้ก่อตั้งขึ้น ก็ได้แพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิเหล่านี้ร่วมแรงร่วมใจกันเสียสละทำงานให้กับสมาคมฯ โดยมีวัตถุประสงค์ร่วมกันในอันที่จะพัฒนาสาขาวิชานี้ให้กับประเทศไทย

ในปี ค.ศ. 2010 สมาคมโรคจากการหลับฯ ได้มีการจัดสอบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับครั้งแรกในประเทศไทย โดยอาศัยข้อสอบ MCQ จาก Dr.Clete A. Kushida ซึ่งในขณะนั้นเป็นนายกสมาคมของ American Academy of Sleep Medicine (AASM) มีแพทย์ไทยสอบผ่านครั้งแรก 10 คน7 และได้ประกาศนียบัตรรับรองความรู้ความสามารถจากสมาคมโรคจากการหลับฯ เป็น sleep specialist รุ่นแรกซึ่งได้มาร่วมกันทำงานเป็นกำลังหลักให้กับสมาคมฯ หลังจากนั้นสมาคมฯ ได้เป็นเจ้าภาพในการจัดสอบแพทย์จากทั่วประเทศเป็นประจำทุกปี จนถึงปี ค.ศ. 2017 มีแพทย์สอบผ่านแล้วเป็นจำนวน 32 คน

นอกจากการเพิ่มจำนวนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญการนอนหลับแล้ว  สมาคมฯ ยังมีการจัดประชุมวิชาการเป็นประจำทุกปี  และมีการจัดประชุมนานาชาติ คือ The 2nd ASEAN Sleep Congress ในปี ค.ศ. 2013 ที่ รพ.จุฬาลงกรณ์

ในปี ค.ศ. 2016 จากการผลักดันของสมาคมโรคจากการหลับฯ และราชวิทยาลัยต่างๆ ทำให้ทางแพทยสภามีมติอนุมัติหลักสูตรแพทย์ประจำบ้านต่อยอด วุฒิบัตรสาขาเวชศาสตร์การนอนหลับ โดยให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ 4 ราชวิทยาลัย  คือ  ราชวิทยาลัย โสตศอนาสิกแพทย์ อายุรแพทย์ จิตแพทย์ และกุมารแพทย์  คาดว่าน่าจะเริ่มมีการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านต่อยอด อนุสาขาเวชศาสตร์การนอนหลับ  ภายใต้ราชวิทยาลัยโสตศอนาสิกแพทย์ได้ปี 2018 และในอนาคตก็จะมีอีก 3 ราชวิทยาลัยที่เหลือตามมา

นอกจากนี้ก็ยังมีการฝึกอบรมแพทย์ต่อยอด  สาขาการนอนหลับ ในระดับประกาศนียบัตร 1 ปี ที่ รพ.จุฬาลงกรณ์  รพ.ศิริราช  และ รพ.รามาธิบดี  โดยเปิดดำเนินการมาแล้วตั้งแต่ปี ค.ศ. 2011, 2015 และ 2017 ตามลำดับ  อีกทั้งยังมีการเปิดหลักสูตรในระดับปริญญาโท หรือ Master of Science (MSc) in Sleep Medicine ที่ รพ.ศิริราช และ รพ.รามาธิบดี ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2015

เชื่อว่าในอนาคตประเทศไทยน่าจะมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับกับปริมาณผู้ป่วยที่คาดว่าน่าจะมากขึ้นในอนาคต

นักตรวจการนอนหลับ

การขาดแคลนนักตรวจการนอนหลับเป็นปัญหาที่ใหญ่ที่สุด ที่เป็นอุปสรรคของการพัฒนา สาขาวิชาการนอนหลับ นักตรวจการนอนหลับรุ่นแรกๆ มักได้รับการฝึกอบรมโดยการเรียนรู้จากการปฏิบัติงานร่วมกับแพทย์ที่จบหลักสูตรการนอนหลับมาจากต่างประเทศ อาศัยแนวทางการอ่านและแปลผลการตรวจ polysomnography จาก American Academy of Sleep Medicine เป็นหลัก

ในปี ค.ศ. 2004 อ.ดร.ปุณฑริกา  สุวรรณประเทศ  จัด Polysomnography Workshop เป็นครั้งแรกที่ภาควิชาสรีรวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โดยได้รับเกียรติจาก Dr. Sharon Keenan จาก School of Sleep Medicine, Palo Alto, สหรัฐอเมริกา มาเป็นวิทยากร

เมื่อสมาคมโรคจากการหลับฯ ได้ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 2009 ได้เล็งเห็นถึงปัญหาการขาดแคลนนักตรวจการนอนหลับ  จึงได้จัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการสำหรับนักตรวจการนอนหลับขึ้นเป็นประจำทุกปีนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2010 เป็นต้นมา วิทยากรประกอบด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับ และ นักตรวจการนอนหลับอาวุโส  รูปแบบมีทั้งการบรรยาย การฝึกปฏิบัติจริงกับผู้ป่วยสมมุติ และคอมพิวเตอร์ โดยมีผู้เข้าร่วมฝึกอบรม 50-100 คนทุกปี

ในปี ค.ศ. 2015 สมาคมฯ ได้มีการจัด Polysomnography Workshop ระดับ international ที่ รพ.รามาธิบดี โดยได้รับเกียรติจาก Dr. Sharon Keenan และ Dr. Tripat Deep Singh ร่วมเป็นวิทยากรหลัก  มีผู้มาเข้าร่วมฝึกอบรมจากประเทศไทย และประเทศอื่นๆ อีก 6 ประเทศ

ทางสมาคมฯ ยังมีการจัดสอบประกาศนียบัตรของนักตรวจการนอนหลับเป็นประจำทุกปี  แบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ ระดับพื้นฐาน และ ระดับชำนาญการ  มีการจัดสอบทั้งแบบที่เป็น MCQ, OSCE และการสอบ scoring competency  โดยการใช้คอมพิวเตอร์รายบุคคล  จนถึงปี ค.ศ. 2016 มีนักตรวจการนอนหลับที่สอบผ่านระดับพื้นฐาน 82 คน  ระดับชำนาญการ 27 คน  เป็นที่น่ายินดีที่ คุณวรกต สุวรรณสถิตย์ หัวหน้านักตรวจการนอนหลับ รพ.รามาธิบดี ได้ผ่านการสอบ RPSGT ของสหรัฐอเมริกาเมื่อปี ค.ศ. 2016 นับเป็นนักตรวจการนอนหลับคนไทยคนแรกที่ผ่านการสอบนี้

และอีกทางหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริมให้มีจำนวนนักตรวจการนอนหลับของไทยเพิ่มขึ้น ทางสมาคมได้เปิดหลักสูตร Sleep technician: Fast track ขึ้นในปี ค.ศ. 2015 ใช้เวลาในการฝึกอบรม 3 เดือน โดยผู้เข้าอบรมจะได้ความรู้จากการฟังการบรรยายทางวิชาการ การฝึกปฏิบัติกับผู้ป่วยสมมุติและผู้ป่วยจริง ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับนักตรวจการนอนหลับอาวุโส ได้เรียนรู้กับอาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญแบบตัวต่อตัวใน 5 สถาบัน ได้แก่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ศิริราช รามาธิบดี พระมงกุฎเกล้า และสถาบันโรคทรวงอก

ในปี ค.ศ. 2017 สภามหาวิทยาลัยมหิดลได้อนุมัติรับรองอาชีพนักตรวจการนอนหลับ ให้เป็นอาชีพใหม่อีกอาชีพหนึ่ง ที่ต้องการผู้มีความรู้ความชำนาญเฉพาะทาง มีความเจริญก้าวหน้าในสายงานของตนเป็นเอกเทศ ทำให้การพัฒนานักตรวจการนอนหลับเป็นที่ยอมรับในวงการแพทย์มากขึ้น

การตรวจการนอนหลับในห้องปฏิบัติการ

จากข้อมูลในปี ค.ศ. 2016  ประเทศไทยมีห้องปฏิบัติการตรวจการนอนหลับ 48 แห่ง  ร้อยละ 64 อยู่ในกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 56 อยู่ในโรงพยาบาลเอกชน  ร้อยละ 23 อยู่ในโรงพยาบาลรัฐบาล และ ร้อยละ 21 อยู่ในโรงเรียนแพทย์7 ข้อบ่งชี้ที่ผู้ป่วยถูกส่งมาตรวจที่พบบ่อยมากที่สุด คือ เรื่องสงสัยภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น และพบว่าร้อยละ 61 มีความผิดปกติในระดับรุนแรง7

ราคาค่าใช้จ่ายของ polysomnographyโดยทั่วไปอยู่ที่ประมาณ 10,000 บาทต่อการทดสอบ 1 คืน จำนวน รพ.ที่สามารถตรวจ polysomnographyได้ มีจำกัด ไม่เพียงพอสำหรับประชากรไทยที่มีจำนวนมากขึ้น บางจังหวัดยังไม่มีการตรวจ polysomnography เลย คาดว่าในอนาคตห้องฏิบัติการตรวจ polysomnographyน่าจะมีมากขึ้น และน่าจะมีการพัฒนา screening test มาคัดกรองโรคได้มากขึ้น  ทางสมาคมฯ ได้เล็งเห็นความสำคัญในการรักษาคุณภาพของการตรวจการนอนหลับให้ได้มาตรฐานเดียวกัน จึงได้มีการตรวจรับรองคุณภาพห้องปฏิบัติการตรวจการนอนหลับขึ้น ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2015 ในปัจจุบันมีโรงพยาบาลที่ผ่านการรับรองคุณภาพ 5 โรงพยาบาล ได้แก่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ศิริราช รามาธิบดี พระมงกุฎเกล้า และสถาบันโรคทรวงอก

ภาคประชาชน

นอกเหนือจากหนังสือเรื่อง “สารพันปัญหาการนอนหลับ” และ “108 ปัญหาของคนนอนกรน” และแผ่นพับที่ให้ความรู้กับประชาชนทั่วไปแล้ว  สมาคมฯ ได้มีการเผยแพร่ความรู้เรื่องการนอนหลับผ่านสื่อต่างๆ ทั้ง วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ และ website: www.sst.or.th

มีการจัดงานกิจกรรมวันนอนหลับโลก (World Sleep Day) ทุกปีตั้งแต่ปี ค.ศ. 2012 เป็นต้นมา โดยในปี ค.ศ. 2017 ได้จัดงานกิจกรรมนี้ร่วมกับกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ทำให้สามารถเผยแพร่ความรู้จนถึงระดับประชาชนทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด รวมทั้งสิ้น 143 แห่ง มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมด 15,875 คนทั่วประเทศ โดยรูปแบบในการจัดกิจกรรมเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เสียงตามสาย การจัดบอร์ดนิทรรศการ อบรมองค์ความรู้ให้แก่เจ้าหน้าที่ และประชาชนทั่วไป รวมถึงมีการประเมินคุณภาพการนอนหลับโดยใช้แบบประเมินที่ได้รับมาตรฐานสากล

นอกจากนี้ อ.นพ.มนูญ  ลีเชวงวงศ์ ประธานทุนง่วงอย่าขับ ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ มูลนิธิรามาธิบดี  ยังมีกิจกรรมให้ความรู้กับประชาชนถึงภัยอันตรายจากการง่วงในการเกิดอุบัติเหตุในท้องถนนอยู่เป็นประจำอีกด้วย

การวิจัย

จากข้อมูลที่รวบรวมโดย รศ.นพ.คณิต  มันตาภรณ์  ที่  HYPERLINK "http://thaisleepindex.com/index.html" http://thaisleepindex.com/index.html ระหว่างปี ค.ศ. 1980-2015 มีการวิจัย และการรายงานทางวิชาการถึง 220 เรื่อง  ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ obstructive sleep apnea แต่เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในเอเชียด้วยกัน  เช่น ไต้หวัน ฮ่องกง ถือว่า ประเทศไทยยังมีผลงานทางวิชาการน้อย และยังขาดข้อมูลเฉพาะของคนไทยที่มีปัญหาการนอนหลับอีกมาก

สรุป

ในอนาคตเชื่อว่าสาขาวิชาการนอนหลับ น่าจะมีการพัฒนาให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น ในช่วงแรกเป็นการทำงานแบบสหสาขาวิชาชีพ  ต่อไปน่าจะมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยตรงที่สามารถทำงานด้านการนอนหลับได้อย่างครบวงจร จำนวนนักตรวจการนอนหลับ ถือว่ายังน้อย ไม่เพียงพอต่อการพัฒนาสาขาวิชานี้ จำเป็นที่ทุกส่วนจะต้องร่วมมือกันเพิ่มจำนวนนักตรวจการนอนหลับให้มากขึ้น รวมถึงความต้องการข้อมูลของคนไทยจากการวิจัยต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาให้ถูกจุด และตรงกับความต้องการของประชาชนคนไทยอย่างแท้จริง

แสดงห้องปฏิบัติการตรวจการนอนหลับ polysomnography แห่งแรกในประเทศไทย จัดตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1984 ที่มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา โดย รองศาสตราจารย์ ดร.นัยพินิจ คชภักดี

Polygraphic test

แสดง Polygraphic test ที่รองศาสตราจารย์ นพ. คณิต มันตาภรณ์ ใช้ในการวินิจฉัยภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น ที่ รพ.รามาธิบดีในปี ค.ศ. 1974

เอกสารอ้างอิง

1. Shepard JW, Jr., Buysse DJ, Chesson AL Jr., Dement WC, Goldberg R, Guilleminault C, et al. History of the development of sleep medicine in the united states. J Clin Sleep Med 2005;1:61-82.

2. Goh KT, Chao TC, Heng BH, Koo CC, Poh SC. Epidemiology of sudden unexpected death syndrome among thai migrant workers in singapore. Int JEpidemiol 1993;22:88-95.

3. Blackwell CC, Busuttil A, Weir DM, Saadi AT, Essery SD. Sudden unexpected nocturnal deaths among thai immigrant workers in singapore. The possible role of toxigenic bacteria. Int JLegal Med 1994;106:205-8.

4. Nademanee K, Raju H, de Noronha SV, Papadakis M, Robinson L, Rothery S, et al. Fibrosis, connexin-43, and conduction abnormalities in the brugada syndrome. J Am Coll Cardiol 2015;66:1976-86.

5. Tosukhowong P, Sriboonlue P, Tungsanga K, Bovornpadungkitti S, Chatuporn S, Muktahant B, et al. Potassium status of northeast thai constructors in three different geographic locations. J Med Assoc Thai 2001;84 Suppl 1:S163-72.

6. Muntarbhorn K. Uvulopalatopharyngoplasty for excessive snoring, daytime sleepiness, sleep apnea and hypertension. Intern Med (Thailand) 1988;4(3):108-11.

7. Tantrakul V, Preutthipan A, Maranetra N. Sleep medicine in Thailand. Sleep Biol Rhythms 2016;14 (Suppl):S31-5.

Spread the love